เกทบอลเชียงรายโอเพ่น ครั้งที่ 1 เริ่มแล้ว สนามกีฬาเทศบาลตำบลบ้านดู่

แชร์ข้อมูลสมาคมฯ

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 นางรัตนา จงสุทธานามณี นายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดการแข่งขันเกทบอลเชียงรายโอเพ่น ครั้งที่ 1 โดยมี นางนพพร ขำตุ้ม ผู้จัดการทีม เกทบอลเชียงราย นำนักกีฬา จังหวัดต่าง ๆ เข้าร่วมในพิธีเปิด พร้อมด้วย คณะกรรมการบริหารงานสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมด้วย ณ สนามกีฬาเทศบาลตำบลบ้านดู่ ตำบลบ้านดู่ อำเภอเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีการแข่งขันระหว่างวันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ 2568

ทั้งนี้ ทางชมรมเกทบอลจังหวัดเชียงราย ร่วมกับ สมาคมกีฬาเกทบอลแห่งประเทศไทย จัดการแข่งขันขึ้น เพื่อให้ผู้ที่สนใจในกีฬาได้รู้จักกีฬาเกทบอล เพื่อให้นักกีฬาเกทบอลแต่ละจังหวัดที่มาแข่งขันได้มาสัมผัสกับ บรรยากาศและทัศนียภาพอันสวยงาม ของจังหวัดเชียงราย และเพื่อให้เกิดสัมพันธภาพอันดีในหมู่ของนักกีฬา

นางรัตนา จงสุทธานามณี นายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การจัดการแข่งขันเกทบอลเชียงราย ครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมกีฬาเกทบอลให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมทั้งยังเป็นโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักกีฬาและผู้สนใจในกีฬาประเภทนี้ .

🟣ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ กีฬาเกทบอล

🔴วิธีการเล่นกีฬาเกทบอล

1) จำนวนผู้เล่นแต่ละทีม จะมีจำนวนทั้งสิ้น 5-8 คน

2) ในการแข่งขันจะมีผู้เล่นตัวจริง 5 คน ตัวสำรอง 3 คน

3) ในแต่ละทีมจะกำหนดกัปตันทีม 1 คน

4) ผู้เล่นจำนวนทีมละ 5 คนจะถูกกำหนดโดยผู้ตัดสินให้เป็น 2 ทีมคือ

ทีมสีแดงกับทีมสีขาวโดยกำหนดหมายเลขดังนี้

ทีมสีแดงจะกำหนดหมายเลข 1, 3, 5, 7, 9

ทีมสีขาวจะกำหนดหมายเลข 2, 4, 6, 8, 10

5) เวลาในการแข่งขันจะใช้เวลา 30 นาที

6) ในการแข่งขัน ผู้เล่นทั้งสองทีมจะถือลูกบอลตามหมายเลขของตนเอง จะยืนตีลูกบอลจากจุดเริ่มเรียงตามลำดับหมายเลข

7) ผู้เล่นจะต้องตีบอลของตนเองผ่านประตูที่ 1, 2, 3 ตามลำดับ ซึ่งในแต่ละประตูจะมี 1 คะแนน

😎 ผู้เล่นที่ผ่านประตูได้จะได้สิทธิ์การตีอีก 1 ครั้ง

9) เมื่อผ่านประตูครบทั้ง 3 ประตู จะมีสิทธิ์ยิงประตูชัย (Goal pole) กรรมการจะขานว่า”อาการิ” (Agari) และเป็นการสิ้นสุดการเล่นของผู้เล่นคนนั้น ซึ่งประตูชัย (Goal pole) จะมี 2 คะแนน

10) ภายใน 30 นาที หากทีมใดสามารถทำ ”อาการิ” ได้ทั้ง 5 คนก่อนทีมนั้นจะเป็นฝ่ายชนะ

11) เมื่อครบ 30 นาที ทีมทั้ง 5 คนไม่สามารถทำ ”อาการิ” ได้สำเร็จ ก็จะนำคะแนนที่ผ่านประตูของแต่ละคนในทีมมารวมกัน ทีมใดได้คะแนนรวมมากที่สุดจะเป็นฝ่ายชนะ

การ “ทัช” (Touch) และ การ “สปารค์” (Spark)

เมื่อผู้เล่นตีลูกของเขาไปสัมผัสหรือชนกับลูกบอลของผู้เล่นคนอื่น ทั้งที่อยู่ในทีมเดียวกันหรือลูกบอลของฝ่ายตรงข้าม จะเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “ทัช” (Touch) ในกรณีนี้เมื่อลูกบอลทั้งสองลูกหยุดนิ่ง ให้หยิบลูกบอลที่ถูก “ทัช” ขึ้นมา แล้วนำไป ณ จุดที่ลูกบอลของเขาหยุดโดยให้ใช้เท้าด้านใดด้านหนึ่งเหยียบลูกบอลของตนให้นิ่งอยู่กับที่ จากนั้นให้วางลูกบอลของผู้อื่นลงโดยให้บอลทั้งสองลูกชิดกันใต้เท้า แล้วจึงใช้ไม้ตีลูกบอลของเขาเพื่อให้กระทบลูกบอลอื่นเคลื่อนไปยังจุดอื่น หรือไปตามทิศทางที่เขาต้องการ เราเรียกการตีลูกแบบนี้ว่า “สปาร์ค” (Spark) ข้อสำคัญลูกบอลของเขาจะต้องนิ่งและอยู่ภายใต้เท้าของเขาที่กำลังเหยียบอยู่ และจะต้องกระทำภายในสิบวินาทีหลังจากที่ “ทัช” (Touch) และลูกทั้งสองหยุดนิ่ง จากนั้นจะสามารถเล่นบอลของเขาต่อไปได้อีกหนึ่งครั้งจากการทำ “สปาร์ค” (Spark) สำเร็จ แต่ถ้าลูกบอลของเขาที่ตีไปแล้วไปสัมผัสหรือชนกับลูกบอลของผู้อื่นอีก ก็ให้ปฏิบัติในทำนองเดียวกัน แต่ต้องไม่ใช่ลูกเดิมที่เขาเคย “ทัช” (Touch) ไปแล้วในรอบการเล่นเดียวกันนี้

***หมายเหตุ ในกรณีที่ลูกบอลของผู้เล่นผ่านประตู และในระหว่างการผ่านประตู ลูกบอลของผู้เล่นได้ไป “ทัช” (Touch) กับลูกบอลอื่นๆ เมื่อลูกบอลทั้งสองลูกหยุดนิ่ง ผู้เล่นต้องทำ “สปาร์ค” (Spark) ให้สำเร็จ และผู้เล่นสามารถตีบอลของเขาได้ 2 ครั้ง คือ 1 ครั้งจากการผ่านประตู และอีก 1 ครั้งจาการทำ “สปาร์ค” (Spark) สำเร็จ


แชร์ข้อมูลสมาคมฯ